Fatheroflove-thailand

ทำไมพระเจ้าตรัสว่า เราฆ่าให้ตายและเราก็ให้มีชีวิตอยู่ (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:39)

โพสต์ ตุลาคม 12, 2021 โดย Kevin J. Mullins ใน พระลักษณะ
แปลโดย Luuknu
1,285 มีคนดู

จากบทความภาษาอังกฤษนี้: https://lastmessageofmercy.com/article/view/deuteronomy-3239-why-does-god-say-i-kill-and-i-make-alive

“จงดูเถิด บัดนี้ ตัวเรา คือเรานี่แหละเป็นผู้นั้น นอกจากเราไม่มีพระเจ้าอื่นใด เราฆ่าให้ตายและเราก็ให้มีชีวิตอยู่ เราทำให้บาดเจ็บ และเราก็รักษาให้หาย ไม่มีผู้ใดจะช่วยให้พ้นมือเราได้” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:39)

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ คริสเตียนพยายามจัดการกับความรุนแรงที่ดูเหมือนมาจากพระเจ้าในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมคือ ผ่านความเข้าใจในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ คริสเตียนหลายคนสอนว่าพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมเกี่ยวข้องเฉพาะกับพันธสัญญาเดิม  หรือช่วงก่อนที่พระคริสต์ได้เสด็จมาบนโลกนี้และได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ซึ่งเป็นยุคของธรรมบัญญัติที่คุณต้อง “เชื่อฟังและมีชีวิต” หรือ ไม่เชื่อฟังและตาย สมัยนั้นไม่มีใครรู้พันธสัญญาใหม่ นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกว่า ผู้คนในพันธสัญญาเดิมมีความคิดแบบดึกดำบรรพ์มาก และเข้าใจได้เฉพาะการใช้แต่ความรุนแรงในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (หลังจากที่พระเยซูทรงบังเกิด) ได้ถูกมองว่าเป็นยุคแห่งพระคุณ ความรักของพระเจ้าได้ถูกเผยในพระคริสต์ และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ได้เสด็จมาในเวลานั้นอนุญาตให้มนุษย์ได้สัมผัสถึงข่าวประเสริฐ ผู้คนที่อยู่ในสมัยก่อนพระเยซูทำได้แต่เพียงแค่ฝันถึงความจริงในอนาคตของแผนการของพระเจ้าที่เกินเอื้อมเท่านั้น ผู้อ่านพระคัมภีร์บางคนมองว่า พระเจ้าทรงพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ในทางหนึ่งก่อนที่พระเยซูจะเสด็จมาแต่มันล้มเหลว จากนั้นทรงใช้วิธีการด้วยความรักมากขึ้น หลายคนอธิบายว่าพระเจ้าทรงทำดีที่สุดเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ภายใต้สถานการณ์นั้น สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมจึงใช้เวลานานมากก่อนที่พระคริสต์จะเสด็จมายังโลกนี้ บางคนคิดว่าน่าจะดีกว่านี้ถ้าส่งพระเยซูไปก่อนหน้านี้เพื่อแนะแนวทางความรักของพระเจ้าให้เร็วยิ่งขึ้น

เมื่อเราเข้าใจพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่นี้แล้ว ดูเหมือนแผนแห่งความรอดมีหลักการที่ตรงกันข้ามกันอยู่ 2 ประการ พันธสัญญาเดิมมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้ธรรมบัญญัติ ในขณะที่พันธสัญญาใหม่มุ่งเน้นไปที่พระเมตตาคุณ การวางหลักการ 2 ข้อในยุคต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์โลก ทำให้เราเข้าใจว่ายุคของโมเสสและยุคของพระเยซูเป็นปฏิปักษ์กัน แต่นี่เป็นวิธีที่ผิดในการเข้าใจพันธสัญญาทั้งสองนี้ ในความเป็นจริงหลักการพันธสัญญา 2 ข้อนี้จะต้องตั้งตามลำดับในประสบการณ์ของแต่ละคน แล้วมันจะเผยให้เห็นกระบวนการฟื้นฟูอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า

ให้เราดูตัวอย่างสถานการณ์ของผู้ป่วยที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกที่ผิดปกติในระดับหนึ่ง เมื่อเขาไปพบแพทย์ท่านหนึ่ง ผู้ป่วยได้รับแจ้งว่าแพทย์จะต้องทำการหักกระดูก และทำให้กระดูกสามารถสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เติบโตได้อย่างถูกต้อง จะเกิดอะไรขึ้นหากแพทย์ทำการรักษาแค่ช่วงระยะแรก คือทำการหักกระดูกแล้วทิ้งมันไว้เท่านั้น (ไม่ได้ต่อใหม่) แพทย์ท่านนี้จะถือว่าเป็นแพทย์ที่ไร้ความสามารถอย่างยิ่ง

ลองจินตนาการถึงผู้ป่วยอีกท่านหนึ่งที่มาพบทันตแพทย์เนื่องจากมีอาการปวดฟันมาก ทันตแพทย์ท่านนี้พบว่าผู้ป่วยรายนี้ฟันผุหนัก ด้วยความยินยอมของผู้ป่วย ทันตแพทย์จึงเริ่มเจาะฟันเพื่อเตรียมเข้าสู่การฟื้นฟู บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดทรมานมากในกระบวนการแห่งการรักษานี้ จะเกิดอะไรขึ้นหากทันตแพทย์ทำแค่ส่วนแรกของกระบวนการแห่งการรักษา หากเขาเจาะฟันผุอย่างเดียวและปล่อยให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ฟันที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อไป ดังนั้นทันตแพทย์จะถือว่าแย่มากเพราะเขาทำการดูแลรักษาเพียงครึ่งแรกเท่านั้น

มาดูกันว่าพระคัมภีร์เขียนว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ โปรดสังเกตการใช้คำว่า “และ” ให้ดี สิ่งนี้บ่งชี้ถึงการกระทำทั้งสองอย่าง การกระทำก่อนและหลังการกระทำร่วมกันตามลำดับ ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง

“จงดูเถิด บัดนี้ ตัวเรา คือเรานี่แหละเป็นผู้นั้น นอกจากเราไม่มีพระเจ้าอื่นใด เราฆ่าให้ตายและเราก็ให้มีชีวิตอยู่ เราทำให้บาดเจ็บ และเราก็รักษาให้หาย ไม่มีผู้ใดจะช่วยให้พ้นมือเราได้” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:39)

พระยาห์เวห์ทรงประหารและทรงให้มีชีวิต พระองค์ทรงนำลงไปถึงแดนคนตายและทรงนำขึ้นมา พระยาห์เวห์ทรงทำให้ยากจนและทรงทำให้มั่งคั่ง ทรงทำให้ต่ำลงและทรงยกขึ้น” (1 ซามูเอล 2:6-7)

 “มีวาระฆ่า และวาระรักษาให้หาย มีวาระรื้อทลายลง และวาระก่อสร้างขึ้น มีวาระร้องไห้ และวาระหัวเราะ มีวาระไว้ทุกข์ และวาระเต้นรำ มีวาระโยนหินทิ้ง และวาระเก็บรวบรวมหิน มีวาระสวมกอด และวาระงดเว้นการสวมกอด” (ปัญญาจารย์ 3:3-5)

“ผู้ประทานให้เราสามารถเป็นผู้ปรนนิบัติแห่งพันธสัญญาใหม่ ที่ไม่ใช่เป็นไปตามตัวอักษรที่เขียนไว้ แต่เป็นไปตามพระวิญญาณ ด้วยว่าตัวอักษรที่เขียนไว้นั้นทำให้ตาย แต่[หรือและ]พระวิญญาณประทานชีวิต” (2 โครินธ์ 3:6)

ในแต่ละกรณี พระเจ้าไม่ได้ทรงฆ่าบางคนในที่หนึ่งในขณะที่ทำการรักษาและการฟื้นฟูบางคนในที่อื่น ๆ พระคัมภีร์กำลังเปิดเผยกระบวนการสองขั้นตอนที่ทำกับคน ๆ เดียวกัน ประการแรกมีการวินิจฉัยถึงขอบเขตของปัญหา และการเปิดเผยถึงความเจ็บปวด ประการที่สอง มีการจัดเตรียมการเยียวยาและการฟื้นฟู นี่คือวิธีที่พันธสัญญาทำงานในชีวิตของทุกคน ข้อนี้ใน 2 โครินธ์ 3:6 ได้เชื่อมโยงกระบวนการของการฆ่าด้วยตัวอักษร และกระบวนการที่พระวิญญาณประทานชีวิต คำภาษากรีก de [ G1161] แปลว่า “และ” สังเกตการแปลดังต่อไปนี้

“ผู้ทรงทำให้เราเพียงพอ [ที่จะ] เป็นผู้รับใช้ของพันธสัญญาใหม่ด้วย ไม่ใช่ทางตัวอักษร แต่ของพระวิญญาณ เพราะตัวอักษรฆ่า และพระวิญญาณทรงทำให้มีชีวิต” (Literal standard Version)

“ผู้ทรงทำให้เราเพียงพอที่จะเป็นผู้ปฏิบัติพันธสัญญาใหม่ ไม่ใช่ทางตัวอักษร แต่ด้วยวิญญาณ เพราะตัวอักษรนั้นฆ่าได้ และวิญญาณก็ทำให้มีชีวิต”  (Young’s Literal Translation)

“ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ที่เหมาะสมในพันธสัญญาใหม่ ไม่ใช่จากตัวอักษร แต่จากพระวิญญาณ เพราะตัวอักษรนั้นฆ่า และพระวิญญาณทรงทำให้มีชีวิต” (Smith’s Literal Translation)

คำนิยามสำหรับคำว่า “และ”  อธิบายว่า "เป็นปฏิปักษ์หรือต่อเนื่อง" กรณีของพันธสัญญาทั้งสองเป็นทั้งปฏิปักษ์และต่อเนื่องกันมา การกระทำของพันธสัญญาแรกเป็นปฏิปักษ์ต่อพันธสัญญาที่สอง เพราะการเปิดเผยและการพังทลาย ในขณะที่พันธสัญญาที่สองฟื้นฟูและสร้างขึ้น เป็นความต่อเนื่องเพราะว่าพันธสัญญาที่สองตามมา หรือดำเนินต่อเนื่องจากพันธสัญญาแรก

แนวคิดนี้ได้รับการเปิดเผยอย่างลึกซึ้งในชีวิตของอับราฮัมและซาราห์ การขาดความเชื่อของพวกเขาได้ถูกเปิดเผยอย่างช้า ๆ เปาโลเปิดเผยให้เรารู้ว่าความสัมพันธ์ของอับราฮัมกับผู้หญิง 2 คน คือซาราห์ (ภรรยา) และฮาการ์ (สาวรับใช้)  แสดงความจริงให้เราเห็นว่าพันธสัญญาทั้งสองทำงานกันอย่างไร

“เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า อับราฮัมมีบุตร 2 คน คนหนึ่งเกิดจากหญิงทาส อีกคนหนึ่งเกิดจากหญิงที่เป็นไท บุตรที่เกิดจากหญิงทาสนั้นก็เกิดตามปกติ แต่บุตรที่เกิดจากหญิงที่เป็นไทนั้นเกิดตามพระสัญญา ข้อความนี้เป็นอุปไมย ผู้หญิงสองคนนั้นได้แก่พันธสัญญาสองอย่าง คนหนึ่งมาจากภูเขาซีนาย คลอดลูกเป็นทาส คือนางฮาการ์ นางฮาการ์นั้นได้แก่ภูเขาซีนายในอาระเบีย เล็งถึงกรุงเยรูซาเล็มปัจจุบัน เพราะว่ากรุงนี้กับเหล่าพลเมืองเป็นทาสอยู่ แต่ว่าเยรูซาเล็มซึ่งอยู่เบื้องบนนั้น เป็นไท เป็นมารดาของเรา” (กาลาเทีย 4:22-26)

อับราฮัมไม่มีบุตรกับซาราห์ภรรยาของเขา ดังนั้นอับราฮัมจึงตัดสินใจคบหากับฮาการ์ด้วย ฮาการ์ให้กำเนิดบุตรก่อน แต่สิ่งนี้ทำให้อับราฮัมเจ็บปวดมากจนต้องส่งฮาการ์และบุตรชายออกไป ความเจ็บปวดของกระบวนการนี้แสดงให้อับราฮัมเห็นความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นเมื่อเขาไม่รอคอยพระเจ้า ประสบการณ์ของเขากับฮาการ์แสดงถึงพันธสัญญาเดิม ซึ่งก็คือการวางใจในตัวเอง จากนั้นอับราฮัมก็สามารถเข้าสู่ประสบการณ์แห่งพันธสัญญาใหม่ได้อย่างเต็มที่ เป็นกระบวนการสองขั้นตอนโดยมีการทับซ้อนกันระหว่างพันธสัญญาทั้งสอง เพราะมีช่วงหนึ่งที่บุตรชายทั้งสองอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน (อิชมาเอลบุตรของฮาการ์ และอิสอัคบุตรซาราห์) โดยการทดสอบการถวายอิสอัค บุตรชายของอับราฮัมในท้ายที่สุดก็สามารถผ่านเข้าไปในพันธสัญญาใหม่ได้ ความเชื่อของเขาในพระเจ้าไม่สั่นคลอน ความสมบูรณ์แห่งความเชื่อของเขาทำให้เขาได้รับการฟื้นฟูตามที่พระเจ้าทรงพึงประสงค์ตั้งแต่ต้น กว่าจะมีการฟื้นฟูนี้ พระเจ้าทรงต้องให้เวลากับกระบวนการที่เผยให้อับราฮัมเห็นถึงอาการที่เขาขาดความเชื่อเพื่อรักษาเขา พระเจ้าทรงปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นเพื่อที่ฆ่าวิธีคิดแบบเก่าของอับราฮัมและยกเขาขึ้นสู่ความมั่นใจในความชอบธรรมโดยความเชื่อ

แพทย์ใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์เป็นเครื่องมือในการแสดงปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่นเดียวกันกับธรรมบัญญัติของพระเจ้าซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องมือ เป็นกระจกสะท้อนให้มนุษย์เห็นถึงขอบเขตของโรคบาป กระจกบางนี้เป็นเครื่องมือที่นำเราไปสู่พระคริสต์หากเรายอมรับการวินิจฉัย

“เพราะฉะนั้นธรรมบัญญัติจึงเป็นผู้ควบคุมของเรา จนพระคริสต์เสด็จมา เพื่อเราจะถูกชำระให้ชอบธรรมโดยความเชื่อ” (กาลาเทีย 3:24)

บาปเป็นปัญหาที่เริ่มต้นในจิตใจฝ่ายเนื้อหนัง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องเผยความคิดผิด ๆ ของเราให้เราเห็น การทำงานนี้ดำเนินการโดยผ่านทางธรรมบัญญัติ

เมื่อมีธรรมบัญญัติ ก็ทำให้มีการละเมิดธรรมบัญญัติปรากฏมากขึ้น แต่ที่ไหนมีบาปปรากฏมากขึ้น ที่นั้นพระคุณก็จะไพบูลย์ยิ่งขึ้น (โรม 5:20)

ปัญหาที่เรามีในฐานะมนุษย์คือ เมื่อพระเจ้าทรงเริ่มเปิดเผยให้เรารู้ถึงความบาป จิตใจตามธรรมชาติของเราจะผลักปัญหากลับคืนสู่พระองค์ ซาราห์กล่าวว่า พระเจ้าทรงห้ามเธอไม่ให้มีบุตร เธอบอกว่ามันเป็นความผิดของพระเจ้าที่สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ไม่ดี และอีกตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อพระเจ้าตรัสถามอาดัมว่า เขากินผลของต้นไม้แห่งรู้ชั่วรู้ดีหรือไม่ อาดัมก็โยนความผิดนั้นกลับไปหาพระเจ้า

“พระองค์จึงตรัสว่า “ใครบอกเจ้าว่าเจ้าเปลือยกาย เจ้ากินผลจากต้นไม้ที่เราสั่งไม่ให้กินนั้นแล้วหรือ” ชายนั้นทูลว่า หญิงที่พระองค์ประทานให้อยู่กับข้าพระองค์ เธอส่งผลจากต้นไม้นั้นให้ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงรับประทาน” (ปฐมกาล 3:11-12)

ปัญหาของการโยนความผิดพลาดที่เรามีต่อพระเจ้าคือมันส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่เราอ่านและตีความพระคัมภีร์ พระคัมภีร์เตือนเราถึงสภาพทางเนื้อหนังของเรา และเผยความคิดและเจตนาของใจเราว่าเราเห็นแก่ตัว หลอกลวง ทำลายล้าง และอาฆาตแค้น

ความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์นั้นแตกต่างอย่างมากกับภาพที่เราเห็นในชีวิตของพระเยซู พระองค์ทรงสำแดงความรักและความเมตตาต่อศัตรูของพระองค์ และพันธกิจที่เอาใจใส่อย่างอดทนของพระองค์ประณามความเห็นแก่ตัวของเราอย่างสิ้นเชิง มนุษย์รู้สึกผิด แทนที่จะกลับใจ แต่ใจมนุษย์กลับโยนคุณลักษณะที่ไม่ดีเหล่านี้กลับคืนสู่พระเจ้า เพื่อแก้ตัวถึงความบาปของตนเอง ยากอบอธิบายว่ามนุษย์อ่านพระวจนะของพระเจ้าและเห็นใบหน้าของเขาเอง

“เพราะถ้าใครเป็นเพียงผู้ฟังพระวจนะและไม่ใช่ผู้ประพฤติตาม ผู้นั้นก็เป็นเหมือนคนที่ดูหน้าของตนเองในกระจกเงา เพราะว่าเมื่อเห็นแล้วก็จากไป และลืมในทันทีว่าตนเองเป็นอย่างไร” (ยากอบ 1:23-24)

พระเจ้ากำลังทรงกระทำดั่งแพทย์หรือทันตแพทย์ในวิธีที่พระองค์ทรงพยายามแสดงให้เราเห็นถึงขอบเขตของปัญหา พระองค์ทรงเฝ้าดูมนุษย์ผู้แสวงหาความรอดตามพันธสัญญาเดิมด้วยวิถีทางของเขาเอง และทรงวิงวอนให้เราตระหนักว่า เราสามารถจัดการกับปัญหาได้โดยการยอมให้พระคริสต์ทรงทำงานในใจของเราเท่านั้น

น่าเศร้าใจที่ตั้งแต่มนุษยชาติตกสู่บาป จิตใจของเราโดยธรรมชาติก็หลอกลวงและฆ่าฟัน เมื่อมนุษย์อ่านพระคัมภีร์ เขาก็โยนคุณลักษณะที่ชั่วร้ายเหล่านี้ไปยังพระเจ้า เมื่อผู้อ่านเห็นว่าพระเจ้าทรงใช้ความรุนแรงและทรงกดขี่ข่มเหง สิ่งนี้จะแสดงให้เห็นอย่างเต็มที่และขยายเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในใจของผู้อ่าน อย่างที่เปาโลอธิบายดังนี้

“ถ้าอย่างนั้นเราจะว่าอย่างไร จะว่าธรรมบัญญัติคือบาปหรือ เปล่าเลย แต่ว่าถ้าไม่มีธรรมบัญญัติแล้ว ข้าพเจ้าก็คงไม่รู้จักบาป เพราะว่าถ้าธรรมบัญญัติไม่ได้ห้ามว่า “ห้ามโลภ” ข้าพเจ้าก็คงไม่รู้ว่าอะไรคือความโลภ แต่ว่าบาปได้ฉวยโอกาสใช้ข้อบัญญัตินั้น ทำให้ความโลภทุกอย่างเกิดขึ้นในตัวข้าพเจ้า เพราะว่าถ้าไม่มีธรรมบัญญัติ บาปเป็นสิ่งที่ตายแล้ว เมื่อก่อนข้าพเจ้าดำรงชีวิตอยู่นอกเหนือธรรมบัญญัติ แต่เมื่อบัญญัตินั้นมา บาปก็กลับมีชีวิต และข้าพเจ้าก็ตาย บัญญัติซึ่งมีไว้เพื่อชีวิต ข้าพเจ้าพบว่านำไปสู่ความตาย เพราะว่าบาปได้ฉวยโอกาสใช้บัญญัตินั้นล่อลวง และประหารข้าพเจ้าให้ตาย เพราะฉะนั้น ธรรมบัญญัติจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบัญญัตินั้นก็ศักดิ์สิทธิ์ ยุติธรรมและดีงาม ถ้าเช่นนั้น สิ่งที่ดีกลับทำให้ข้าพเจ้าต้องตายหรือ เปล่าเลย บาปต่างหาก คือบาปซึ่งอาศัยสิ่งที่ดีนั้นทำให้ข้าพเจ้าต้องตาย เพื่อจะให้ปรากฏว่าบาปนั้นเป็นบาปจริง และโดยอาศัยพระบัญญัตินั้น บาปก็ปรากฏว่าชั่วร้ายยิ่งนัก” (โรม 7:7-13)

มนุษย์ใช้เรื่องราวของคัมภีร์พันธสัญญาเดิมที่ดูเหมือนกล่าวว่าพระเจ้าทรงทำลายและทรงฆ่าผู้คนเพื่อปกป้องนิสัยชั่วร้ายของตัวพวกเขาเอง พระคัมภีร์เขียนไว้อย่างถี่ถ้วนเพื่อให้มนุษย์เปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจได้อย่างเต็มที่ ชีวิตของพระเยซูบนแผ่นดินโลกสำแดงให้เราเห็นว่าพระเจ้านั้นทรงเป็นอย่างไร พระเยซูไม่เคยทรงฆ่าใคร แต่แทนที่มนุษย์จะมองเข้าไปในกระจกเงาอันสมบูรณ์แบบแห่งความรักของพระเจ้า พวกเขากลับเลือกที่จะอ่านคัมภีร์พันธสัญญาเดิมในฐานะผู้ฟังพระวจนะและไม่ได้ประพฤติตาม พวกเขาเพียงแค่เห็นใบหน้าของตนเองในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นพระพักตร์ของพระเจ้า

ความพยายามที่จะแยกกระบวนการทั้งสองขั้นตอนนี้ ทำให้พระเจ้ายุคก่อนพระเยซูทรงดูเหมือนเป็นแพทย์ที่เพียงแค่ตัดกระดูกและเจาะฟันโดยไม่มีการรักษาขั้นตอนที่สอง สิ่งนี้ทำให้พระเจ้าทรงดูเหมือนแข็งกระด้างและทรงโหดร้าย และที่แย่ไปกว่านั้นคือ คนที่สอนข่าวประเสร็จในปัจจุบันสอนแค่เรื่องเชื่อในพระเยซู และอย่ากังวลถึงเรื่องกระดูกที่ผิดรูป และฟันผุของคุณ ที่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้สอนขั้นตอนแรกแห่งการรักษา ซึ่งการสอนข่าวประเสริฐนี้สำแดงให้เห็นว่า ผู้สอนต้องการให้พระเยซูเติมโพรงของคุณแต่ปราศจากการทำความสะอาดในส่วนที่เน่าเปื่อย การแยกสองขั้นตอนในพันธสัญญา ทำให้พระเจ้าทรงดูเข้มงวดในพันธสัญญาเดิม และทรงอ่อนแอและประนีประนอมในพันธสัญญาใหม่ ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการไม่เข้าใจกระบวนการทั้งสองขั้นตอนนี้อย่างถูกต้องก็คือ เมื่อพระเจ้าทรงยอมให้สิ่งต่าง ๆ เผยความบาปในผู้ที่พระองค์ทรงแสวงหาที่จะช่วยให้รอด การสำแดงของความบาปเหล่านี้ จะถือว่าเป็นความพึงปรารถนาของพระองค์

เมื่อธรรมบัญญัติเข้ามาในใจและความคิดของเรา มันทำให้ความบาปในมนุษย์ขยายออกและปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้น จากนั้นมนุษย์ก็จะได้รับการเชิญชวนให้หันกลับไปหาพระคริสต์และรับการเยียวยา

“เพราะว่าพระคริสต์ทรงเป็นจุดจบของธรรมบัญญัติ เพื่อให้ทุกคนที่มีความเชื่อได้รับความชอบธรรม” (โรม 10:4)

 “เรารู้แล้วว่า คนเก่าของเรานั้นถูกตรึงไว้กับพระองค์แล้ว เพื่อตัวที่บาปนั้นจะถูกทำลายให้สิ้นไป และเราจะไม่เป็นทาสของบาปอีกต่อไป เพราะว่าผู้ที่ตายแล้วก็พ้นจากบาป แต่ถ้าเราตายแล้วกับพระคริสต์ เราเชื่อว่าเราจะมีชีวิตอยู่กับพระองค์ด้วย เรารู้อยู่ว่า พระเจ้าทรงให้พระคริสต์เป็นขึ้นมาจากตาย แล้วพระองค์จะไม่ตายอีก ความตายจะไม่มีอำนาจเหนือพระองค์ต่อไป ด้วยว่าซึ่งพระองค์ได้ทรงตายนั้นพระองค์ได้ทรงตายต่อบาปครั้งเดียวเป็นพอ แต่ซึ่งพระองค์ทรงชีวิตอยู่นั้น พระองค์ทรงชีวิตสนิทกับพระเจ้า ในทำนองเดียวกัน พวกท่านจงถือว่าท่านได้ตายต่อบาป และมีชีวิตสนิทกับพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์” (โรม 6:6-11)

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเพิ่งอ่านไป สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หนังสือ ชื่อเรื่อง การผจญภัยแห่งความเชื่อ