Fatheroflove-thailand

พระพิโรธของพระเจ้าคืออะไร

โพสต์ พฤศจิกายน 17, 2021 โดย Jay A. Schulberg ใน บัญญัติและกฎเกณฑ์ของพระเจ้า
2,068 มีคนดู

ท่านเคยสงสัยบ้างไหม

คำถามเกี่ยวกับพระพิโรธของพระเจ้าทำให้เราหลายคนเกิดความสงสัย ยิ่งเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์เดิม มีการกล่าวหลายอ้างอิงที่เกี่ยวกับพระพิโรธหรือความโกรธกริ้วของพระเจ้า แล้วพระพิโรธของพระเจ้านั้นคืออะไรกันแน่เพื่อจะตอบคำถามนี้ เราจะยกตัวอย่างเหตุการณ์แรกในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระพิโรธของพระเจ้า  เมื่อครั้งที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้โมเสสนำคนอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ มีเหตุการณ์ใดบ้างที่ทำให้พระเจ้าทรงสำแดงความโกรธกริ้วในเวลานั้น

แต่โมเสสทูลพระยาห์เวห์ว่า “องค์เจ้านาย ข้าพระองค์ไม่ใช่นักพูด ทั้งในอดีต และตั้งแต่เมื่อพระองค์ตรัสกับผู้รับใช้ของพระองค์ ข้าพระองค์เป็นคนพูดไม่คล่อง” พระยาห์เวห์จึงตรัสกับโมเสสว่า “ใครเล่าสร้างปากมนุษย์หรือ เรา ยาห์เวห์ เป็นผู้ทำไม่ใช่หรือ บัดนี้ ไปเถิด เราจะช่วยเจ้าให้พูด และจะสอนคำซึ่งควรจะพูด” แต่ท่านทูลว่า “องค์เจ้านาย โปรดใช้คนอื่นไปเถิด” (อพยพ 4:10-13)

โมเสสกลัวที่จะต้องไปเข้าเฝ้าฟาโรห์เพียงคนเดียวและขอให้มีผู้พูดแทนเขา แล้วพระเจ้าทรงตอบสนองเขาอย่างไร

พระยาห์เวห์จึงทรงกริ้วโมเสส แล้วตรัสว่า “เจ้ามีพี่ชายคืออาโรนคนเลวีไม่ใช่หรือ เรารู้แล้วว่าเขาเป็นคนพูดเก่ง และดูสิ บัดนี้เขากำลังเดินทางมาพบเจ้า เมื่อเขาเห็นเจ้า เขาจะดีใจ (อพยพ 4:14)

พระเจ้าทรงสำแดงความกริ้วอย่างไร โดยตอบสนองโมเสสในสิ่งที่เขาต้องการ เราจะมาดูพระคัมภีร์ข้ออื่นที่พูดถึงความโกรธของพระเจ้า

คนที่ปะปนมากับเขาทั้งหลายเป็นพวกที่มีความอยากกินเป็นอย่างมาก และคนอิสราเอลก็ร้องไห้คร่ำครวญอีกด้วยว่า “ใครจะให้เนื้อเรากิน เมื่อโมเสสได้ยินประชาชนร้องไห้กันไปทั่วตระกูลต่าง ๆ โดยแต่ละคนอยู่ที่ประตูเต็นท์ของตน และพระยาห์เวห์ทรงกริ้วอย่างยิ่ง โมเสสก็ไม่พอใจด้วย แล้วมีลมมาจากพระยาห์เวห์พัดพาฝูงนกคุ่มจากทะเลมาตกอยู่ที่ข้างค่ายโดยอยู่รอบ ๆ ทั้งค่าย อยู่ห่างออกไปจากค่ายเป็นระยะทางเดินหนึ่งวัน และอยู่สูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร วันนั้นประชาชนก็เที่ยวจับนกคุ่มกันทั้งวันทั้งคืน และตลอดวันถัดมาด้วย (คนที่จับได้น้อยที่สุดก็ได้ไม่ต่ำกว่าพันกิโลกรัม) แล้วเขาทั้งหลายก็เอามากางตากกันทั่วโดยอยู่รอบ ๆ ค่าย (กันดารวิถี 11:4, 10, 31-32)

ในเหตุการณ์นี้เราพบความกริ้วของพระเจ้าอีกครั้ง พระองค์ทรงมีปฎิกริยาอย่างไร พระเจ้าได้ทรงประทานในสิ่งที่พวกเขาได้ร้องขอ

[ให้เปรียบเทียบแนวคิดนี้กับหนังสือสดุดี 78:26-29]

ต่อมาเมื่อซามูเอลแก่แล้ว ท่านได้ตั้งพวกบุตรชายของท่านให้วินิจฉัยอิสราเอล ... แต่พวกบุตรชายของท่านไม่ได้ดำเนินตามอย่างชีวิตของท่าน พวกเขาบิดเบือนไปหารายได้ที่ผิด รับสินบน และบิดเบือนความยุติธรรมพวกผู้ใหญ่ทั้งหมดของอิสราเอลก็พากันมาหาซามูเอลที่เมืองรามาห์ และพูดกับท่านว่า “ดูเถิด ท่านชราแล้วและพวกบุตรของท่านไม่ได้ดำเนินตามอย่างชีวิตของท่าน บัดนี้ขอท่านได้ตั้งพระราชาให้วินิจฉัยพวกเราอย่างประชาชาติทั้งปวงเถิด” ถ้อยคำที่พวกเขาพูดว่า “ขอตั้งพระราชาให้วินิจฉัยเราทั้งหลาย” ทำให้ซามูเอลไม่พอใจ ซามูเอลจึงทูลอธิษฐานต่อพระยาห์เวห์ และพระยาห์เวห์ทรงตอบซามูเอลว่า “จงฟังเสียงประชาชนในเรื่องที่พวกเขาพูดกับเจ้า เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ละทิ้งเจ้า แต่พวกเขาละทิ้งเรา ไม่ให้เราเป็นกษัตริย์เหนือพวกเขา (1 ซามูเอล 8:1-7)

พระเจ้าทรงส่งข่าวสารให้แก่ประชาชนโดยผ่านผู้พยากรณ์ซามูเอล ถึงเหตุผลว่า ทำไมการสถาปนาระบอบกษัตริย์จึงไม่มีประโยชน์ต่อชาวอิสราเอล แล้วพวกเขาได้เชื่อฟังท่านซามูเอลหรือไม่

แต่ประชาชนปฏิเสธไม่เชื่อฟังซามูเอล พวกเขากล่าวว่า “เราไม่ยอม เราจะต้องมีกษัตริย์ปกครองเรา เพื่อเราจะเป็นเหมือนประชาชาติทั้งหลาย และเพื่อกษัตริย์ของเราจะวินิจฉัยเราและนำหน้าเราไปและรบในสงครามให้เรา” (1 ซามูเอล 8:19-20)

พระเจ้าทรงตอบสนองต่อการเรียกร้องของประชาชนอย่างไร

และพระยาห์เวห์ตรัสกับซามูเอลว่า “จงฟังพวกเขาเถิด และจงตั้งกษัตริย์องค์หนึ่งให้พวกเขา” (1 ซามูเอล 8:22)

เราทราบได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงได้ประทานกษัตริย์แก่พวกเขาด้วยพระพิโรธ ผู้พยากรณ์โฮเชยาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และให้มุมมองของพระเจ้าในเรื่องการตามใจสิ่งที่ประชาชนนั้นต้องการ

โอ อิสราเอลเอ๋ย เจ้าได้ทำลายตัวเอง แต่เราช่วยเจ้าได้เราประสงค์เป็นกษัตริย์ของเจ้า กษัตริย์อื่น ๆ ที่สามารถช่วยเจ้าในเมืองทั้งหลายของเจ้าอยู่ที่ไหน และผู้ปกครองของเจ้าอยู่ที่ไหน คือพวกเหล่านั้นที่เจ้าได้กล่าวเรื่องเขาว่า “ขอตั้งกษัตริย์และเจ้านายไว้ให้แก่ข้าพเจ้า” เพราะความกริ้วของเรา เราจึงให้เจ้ามีกษัตริย์ และเพราะความโกรธของเรา เราจึงเอากษัตริย์นั้นไปเสีย (โฮเชยา 13:9-11 Thai KJV)

เรื่องจากพระคัมภีร์ทั้งสามเรื่องข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความกริ้วของพระเจ้าที่พระองค์ทรงอนุญาตในสิ่งที่คนอิสราเอลต้องการ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเลย แต่พระองค์ก็ทรงยินยอมที่จะทำตามเช่นดัง เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยก็พอจะชี้ให้เราเห็นว่าความกริ้วของพระเจ้าตามความหมายในพระคัมภีร์แตกต่างอย่างชัดเจนไปจากความหมายที่พบในพจนานุกรม อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่มากไปกว่านี้อีก จะเกิดอะไรขึ้นหากพระเยซูทรงโกรธกริ้ว

แล้วพระองค์เสด็จเข้าไปในธรรมศาลาอีก และมีคนที่มือข้างหนึ่งลีบอยู่ที่นั่น คนเหล่านั้นคอยเฝ้าดูว่า พระองค์จะทรงรักษาโรคให้คนนั้นในวันสะบาโตหรือไม่ เพื่อจะหาเหตุฟ้องพระองค์ พระองค์ตรัสกับคนมือลีบว่า “มาข้างหน้าเถอะ” แล้วพระองค์ตรัสกับคนทั้งหลายว่า “ในวันสะบาโตควรจะทำการดีหรือทำการร้าย ควรจะช่วยชีวิตหรือทำลายชีวิต” คนทั้งหลายก็นิ่งอยู่ พระองค์ทอดพระเนตรดูรอบ ๆ ด้วยพระพิโรธและเสียพระทัย ที่จิตใจของพวกเขากระด้าง แล้วพระองค์ตรัสกับชายคนนั้นว่า “จงเหยียดมือออกเถิด” เขาก็เหยียดออก และมือของเขาก็หายเป็นปกติ พวกฟาริสีจึงออกไปและปรึกษากับพรรคพวกของเฮโรดทันทีว่าทำอย่างไรพวกเขาถึงจะฆ่าพระองค์ได้ (มาระโก 3:1-6)

นี่คือการเผชิญหน้าระหว่างพระเยซูกับพวกฟาริสี  พวกเขาตั้งกฎที่ห้ามมิให้มีการรักษาในวันสะบาโต แต่พระเยซูทรงอ่านใจพวกเขาออก และ “ดูรอบ ๆ ด้วยพระพิโรธ” ความโกรธแบบไหนที่พระเยซูทรงสําแดงในที่นี่ เป็นความโกรธที่อธิบายให้เราเห็นได้ว่า “ทรงเสียพระทัย ที่จิตใจของพวกเขาแข็งกระด้าง” พระเยซูทรงกำลังเศร้าโศกเสียพระทัยเพราะผู้นำศาสนาที่โหดร้ายเหล่านี้ขาดความรักและความเห็นอกเห็นใจสำหรับคนมือลีบ นอกจากนี้เราพบอะไรอีกในพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระพิโรธและความกริ้วของพระเจ้า

เพราะว่าพระเจ้าทรงสำแดงพระพิโรธของพระองค์จากสวรรค์ ต่อความหมิ่นประมาทพระองค์ และความชั่วร้ายทั้งมวลของมนุษย์ ที่เอาความชั่วร้ายนั้นบีบคั้นความจริง (โรม 1:18)

พระเจ้าทรงสำแดงพระพิโรธอย่างไร

เพราะฉะนั้น พระเจ้าจึงทรงปล่อยเขาให้ประพฤติการโสโครกตามราคะตัณหาในใจของเขา ให้เขาทำสิ่งที่น่าอับอายต่อกายของกันและกัน (โรม 1:24)

เพราะเหตุนี้ พระเจ้าทรงปล่อยให้เขามีกิเลสตัณหาอันน่าอัปยศ (โรม 1:26)

และเพราะเขาเห็นว่าการรู้จักพระเจ้าไม่เป็นสิ่งสำคัญ พระองค์จึงทรงปล่อยให้เขามีจิตใจเสื่อมทรามและประพฤติสิ่งที่ไม่เหมาะสม (โรม 1:28)

พระพิโรธของพระเจ้าในที่นี่หมายถึง “พระเจ้าทรงปล่อย” กล่าวอีกนัยหนึ่งพระเจ้าทรงให้อิสระแก่ผู้คนในการแยกตัวเองออกจากพระเจ้า มันไม่ใช่ความโกรธที่ต้องการแก้แค้นทำลายที่เรามักพูดว่าเป็นการกระทําของพระเจ้า ให้เราอ่านดูพระคัมภีร์เดิมเพิ่มเติม

พวกเขายั่วยุให้เราโกรธกริ้วหรือ พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า เขายั่วยุเราหรือ ไม่ใช่ยั่วยุตัวเขาเองให้ได้รับความอับอายหรือ ฉะนั้น พระยาห์เวห์องค์เจ้านายจึงตรัสดังนี้ว่า นี่แน่ะ ความกริ้วและความโกรธของเราจะเทลงบนสถานที่นี้บนมนุษย์และสัตว์ บนต้นไม้ในท้องทุ่ง และบนพืชผลของแผ่นดิน จะเผาผลาญเสียและจะดับไม่ได้ (เยเรมีย์ 7:15, 19-20)

พระเจ้าทรงถามว่า “เขายั่วยุเราหรือไม่ใช่ยั่วยุตัวเขาเองให้ได้รับความอับอายหรือ” ปัญหาของพวกเขาเป็นผลมาจากการกราบไหว้รูปเคารพไม่ใช่พระเจ้าสาปแช่งพวกเขา การปล่อยให้เขารับผลที่ตามมาคือวิธีลงโทษของพระเจ้า

พระพิโรธของพระยาห์เวห์เกิดขึ้นต่ออิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง จึงทรงเร้าใจดาวิดต่อสู้พวกเขา ตรัสว่า “จงไปนับคนอิสราเอลและคนยูดาห์” … (2 ซามูเอล 24:1)

สาเหตุที่กษัตริย์ดาวิดสั่งให้นับจํานวนคนอิสราเอลเกิดจากความเย่อหยิ่งและความไม่วางใจในพระเจ้าโดยคิดว่าจํานวนมนุษย์และกำลังทหารจะปกป้องอิสราเอลจากศัตรู พระเจ้า “ทรงเร้าใจดาวิดต่อสู้พวกเขา” เราสามารถมีปัญหาในการทําความเข้าใจประโยคข้างต้นนี้ถ้าเราตีความโดยตรงใช่ไหม หรือว่าพระเจ้าทรงกำลังกระซิบข้างหูของดาวิดให้นับจํานวนคนอิสราเอลเพื่อพระองค์จะทรงมีข้อแก้ตัวที่ดีในการละทิ้งพวกเขาหรือ

พระเจ้าไม่ได้ทรงมีบทบาทโดยตรงในการทำลาย และพระองค์จะไม่ทรงเป็นผู้ปลุกปั่นความชั่วร้าย แต่ยังมีผู้หนึ่งที่ลงมือกระทำ มันเป็นไปได้ไหมในเหตุการณ์นี้ที่พระเจ้าไม่ได้ทรงเป็นผู้ "เร้าใจ" ดาวิดให้นับคนอิสราเอล คือ ทรงอนุญาตให้เขาทำในสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าเราจะบอกว่ามันเป็นซาตานที่กระซิบในหูของเดวิดมันจะเป็นไปได้ไหม เราสามารถรู้ได้อย่างไร เราสามารถอ่านเกี่ยวกับเหตุการณ์เดียวกันนี้ในหนังสือ 1 พงศาวดาร ที่กล่าวว่า “ซาตานยืนขึ้นต่อสู้อิสราเอล และดลใจให้ดาวิดนับจำนวนอิสราเอล” (1 พงศาวดาร 21:1)

เราอาจสงสัยว่าทำไมพระคัมภีร์ถึงไม่บอกเรื่องราวอย่างชัดเจนตรง ๆ ในแต่ละเหตุการณ์ตามตัวอักษรเพื่อให้การศึกษาพระคัมภีร์ง่ายขึ้น แน่นอน มันจะง่ายขึ้น แต่ปัญหาคือ การสื่อสารระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าพระเจ้าทรงขาดความเข้าใจแต่เป็นเพราะมนุษย์เราต่างหากขาดความเข้าใจในพระเจ้า โดยพระปัญญาของพระเจ้า พระองค์ทรงมอบอิสรภาพแก่มนุษย์ในการเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับพระองค์ พระคัมภีร์จึงถูกเขียนขึ้นมาโดยยึดหลักการแห่งความอิสระเสรี เมื่อมนุษย์มีโอกาสที่จะเรียนรู้ และเข้าใจถึงความจริงแห่งความรอดผ่านองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เรากลับปฎิเสธพระองค์เสีย ความชัดเจนมากเกินไปจะยิ่งทําให้มนุษย์ยิ่งห่างเหินออกไปจากพระเจ้า จากเหตุผลดังกล่าวพระคัมภีร์จึงถูกเขียนขึ้น ด้วยข้อความที่มีความกํากวมโดยให้พื้นที่เพื่อการแปลที่ขัดแย้งเพราะมันไม่ใช่พระอุปนิสัยของพระเจ้าที่จะโน้มน้าวหรือชักจูงให้เราเชื่อในความรักอันไม่เปลี่ยนแปลงของพระองค์โดยไม่เต็มใจ ในเวลาเดียวกัน พระคัมภีร์ก็มีหลักฐานมากมายสำหรับผู้ที่กำลังค้นหาและต้องการพบพระเจ้าผู้ทรงอ่อนโยน

ตัดตอนจากหนังสือเล่มนี้

https://fatheroflove-thailand.com/book/view/Acts-of-gentle-god-thai

Read the tract 'Is this God's Anger?' in English

Read Acts of our Gentle God in English